Cloud Kitchen ร้านอาหารไร้หน้าร้าน โอกาสทองของ SME!!

11 ก.ย. 2566

SME Playbook

จากกระแสธุรกิจเดลิเวอรี่อาหาร ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ตามขึ้นมาอย่างมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ ธุรกิจร้านอาหารที่ไร้หน้าร้าน หรือที่เรียกว่า Cloud Kitchen เกิดขึ้น ซึ่งโมเดลธุรกิจนี้จะสามารถช่วยสร้างโอกาสให้กับ SME ได้อย่างไรนั้นเรามีข้อมูลดีๆ มากฝาก

 

Cloud Kitchenคืออะไร?

โมเดลธุรกิจร้านอาหารยุคใหม่ ที่ไม่มีหน้าร้านให้นั่งกิน แต่เน้นขายผ่านช่องทางออนไลน์ และส่งอาหารให้ลูกค้าผ่านระบบเดลิเวอรี่บนแพลตฟอร์มส่งอาหารต่างๆ ซึ่งสามารถเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้ร้านอาหารทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ รวมถึงผู้สนใจเปิดร้านอาหาร สามารถเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง เพื่อเพิ่มยอดขาย ขยายสาขาและมีช่องทางที่จะเข้าถึงลูกค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น


ข้อดีของ Cloud Kitchen

  1. ใช้ต้นทุนเปิดร้านต่ำ ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านที่สวยหรู สามารถเริ่มธุรกิจได้จากครัวที่บ้าน หรือใช้ครัวกลางในการเปิดร้าน
  2. ช่วยลดต้นทุนจากการขยายสาขา
  3. สามารถขยายฐานลูกค้าได้เร็ว
  4. ลดค่าใช้จ่ายโดยรวม และต่อเดือนลดลง
  5. สามารถขายได้พร้อมกันหลายๆ ช่องทาง ในแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ต่างๆ

 

สิ่งที่ต้องระวัง

  1. เจ้าของร้านอาหารจำเป็นต้องสมัครและมีหน้าร้านผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่อาหาร และมีการแบ่งค่าคอมมิชั่น หรือ GP (Gross Profit) ให้กับแพลตฟอร์มซึ่งแต่ละเจ้าจะหักค่า GP แตกต่างกัน
  2. ผู้บริโภคจะรู้จักหรือรับรู้แบรนด์ได้จากช่องทางออนไลน์เท่านั้น
  3. มีการแข่งขันสูง เพราะใครๆ ก็สามารถเข้าถึงธุรกิจได้ง่าย
  4. ค่าส่ง ถ้าค่าส่งแพงเกินไป ลูกค้าอาจจะไม่สั่ง ร้านค้าใดที่มีหลายสาขาก็จะได้เปรียบในการเข้าถึงลูกค้ามากกว่า

 

เตรียมพร้อมยังไงก่อนเริ่มทำ Cloud Kitchen

  1. วางระบบการจัดการในครัว สำหรับผู้ที่เปิดร้านใหม่ อาจจะต้องวางระบบบริหารจัดการตั้งแต่ขั้นตอนของการรับออเดอร์จากแพลตฟอร์ม การเตรียมวัตถุดิบ ให้เพียงพอกับออเดอร์ที่อาจมีเข้ามาพร้อมๆ กันในแต่ละวันให้เพียงพอ วิธีและขั้นตอนการปรุงอาหาร เพื่อจัดส่งให้ทันกับไรเดอร์ที่มารับ เพราะถ้าวางแผนไม่ดีพอ และต้องถูกยกเลิกออเดอร์ไป ก็อาจทำให้ลูกค้าเสียความรู้สึกได้
  2. สร้างเมนูอาหาร เผื่อระยะทางจัดส่ง หลายต่อหลายครั้งที่ลูกค้ากดสั่งอาหารในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานในการขนส่ง ฉะนั้นควรคิดเมนูอาหารและหน้าตาของอาหารเอาไว้ โดยเผื่อถึงเรื่องการจัดส่ง ระยะทางจากครัวไปถึงมือลูกค้า ที่อาจทำให้อาหารเปลี่ยนสภาพไป
  3. สร้างคอนเทนต์โปรโมทร้าน หลังจากที่เตรียมความพร้อมในเรื่องระบบเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือ รูปภาพอาหาร ที่ใช้ลงในแพลตฟอร์มต่างๆ ต้องมีภาพที่น่ารับประทาน ทำให้ลูกค้าเห็นแล้วรู้สึกสนใจ และกดสั่ง อาหารในทันที นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของการสร้างคอนเทนต์เพื่อช่วยทำการตลาดในโซเชียลมีเดีย และการสร้างแคมเปญโปรโมชั่นต่างๆ ร่วมกับแพลตฟอร์มที่เราเปิดร้านด้วยก็จะช่วยสร้างฐาน ลูกค้าที่เพิ่มขึ้นให้กับร้านได้

สาระ SME น่ารู้ที่เกี่ยวข้อง