รู้ไว้ก่อนกู้ 7 ประเภทสินเชื่อธุรกิจ SME

18 เม.ย. 2567

SME Playbook

หลายครั้งเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว SME อาจมีความจำเป็นต้องใช้บริการสินเชื่อจากธนาคารที่มีหลากหลายประเภท ถ้าหากรู้จักสินเชื่อแต่ละประเภทก่อนก็จะช่วยให้ SME สามารถใช้บริการสินเชื่อได้อย่างเหมาะสม ป้องกันความเสี่ยงที่ไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ตามเงื่อนไข ซึ่งสินเชื่อที่นิยมใช้กันในปัจจุบันก็จะมีดังนี้


7 ประเภทสินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME

  1. สินเชื่อแบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan, Time Loan ,Fixed Loan)

    ลักษณะสินเชื่อ : ธนาคารจะทำการอนุมัติวงเงินก้อนเพียงครั้งเดียว ผู้กู้สามารถขอทำการเบิกใช้ได้หลายครั้ง แต่ต้องไม่เกินวงเงินรวมที่ธนาคารได้ทำการอนุมัติไว้ในตอนแรก
    การผ่อนชำระ : มีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน อายุมากกว่า 1 ปี ส่วนมากจะกำหนดเป็นรายเดือน หรือรายไตรมาส เหมือนการผ่อนบ้าน หากต้องการขอวงเงินเกินกว่าที่ธนาคารได้เคยอนุมัติไว้ ต้องทำการปิดวงเงินเดิมและทำการกู้ใหม่อีกครั้ง

     
  2. สินเชื่อวงเงินเบิกเกินบัญชี (Over Draft : O/D)
    ลักษณะสินเชื่อ : สินเชื่อหมุนเวียนเผื่อเรียก จะใช้เมื่อไหร่ก็ได้ โดยการถอนเงินผ่านบัญชีกระแสรายวันด้วยเช็ค หรือ บัตร ATM เมื่อมีการใช้วงเงิน สถานะของบัญชีจะขึ้นเป็นติดลบทันที ส่วนดอกเบี้ยจะคิดจากจำนวนเงินที่ติดลบในแต่ละวัน และทำการเรียกเก็บเมื่อถึงสิ้นเดือน
    การผ่อนชำระ : ผู้กู้จะต้องจ่ายเงินคืนเข้ามาในบัญชีเพื่อทำให้สถานการณ์ติดลบน้อยลง หากธนาคารเรียกเก็บดอกเบี้ย แต่ยังไม่มีการทำการชำระเข้ามาในบัญชี ดอกเบี้ยจะถูกทบเพิ่มเป็นเงินต้นเพื่อใช้ร่วมสำหรับการคิดดอกเบี้ยในงวดต่อไป
     
  3. สินเชื่อตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note :ตั๋ว P/N)
    ลักษณะสินเชื่อ : สินเชื่อระยะสั้น อายุ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปีก็ได้ ใช้เสริมสภาพคล่องหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจ ผู้กู้สามารถขอใช้สินเชื่อประเภทนี้ในการซื้อสินทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่สูงมากนัก เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของธุรกิจ
    การผ่อนชำระ : ชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด หรือจ่ายแต่ดอกเบี้ยทุกเดือน แล้วจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้ายเมื่อครบกำหนดก็ได้
     
  4. สินเชื่อแฟคตอริ่ง (Factoring)
    ลักษณะสินเชื่อ : สินเชื่อระยะสั้นให้แก่ผู้ที่ขายสินค้าหรือบริการ ที่ยังไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้าของตนได้ในทันที แต่มีหลักประกันสินเชื่อเป็นใบวางบิล ซึ่งธนาคารจะเป็นผู้จ่ายเงินค่าสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดเวลาชำระค่าสินค้าและบริการ และเป็นผู้ถือสิทธิ์ในการเรียกเก็บเงินจากผู้ซื้อสินค้าหรือบริการอีกทอดหนึ่ง
    การผ่อนชำระ : ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากเงินที่จ่ายไปก่อนล่วงหน้าแก่ผู้ที่ขายสินค้าหรือบริการ
     
  5. สินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase) และ ลิซซิ่ง(Leasing)
    ลักษณะสินเชื่อ : สินเชื่อที่ทำให้เราได้สินค้า เช่น เครื่องจักร รถยนต์ จักรยานยนต์ มาใช้เพื่อขยายธุรกิจ โดยที่ผู้เช่าซื้อยังไม่ได้เป็นเจ้าของหรือมีกรรมสิทธิ์ในสินค้านั้น และไม่ต้องจ่ายเงินก้อนในครั้งเดียว สามารถผ่อนจ่ายได้ตามกำลัง
    การผ่อนชำระ : 
         สินเชื่อเช่าซื้อ
    ผ่อนชำระค่าสินค้าเป็นงวดๆ ตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่กำหนด กรรมสิทธิ์จะเป็นของผู้กู้เมื่อผ่อนชำระค่าสินค้าหมดแล้ว
         สินเชื่อลิซซิ่งผู้กู้ผ่อนชำระค่าสินค้าเป็นงวดๆ ตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาเช่า แต่เมื่อสิ้นสุดกำหนดแล้ว ผู้กู้สามารถเลือกได้ว่า จะซื้อ ต่อสัญญาเช่า หรือส่งคืนทรัพย์สินให้กับผู้เช่า

     
  6. หนังสือค้ำประกัน Bank Guarantee
    ลักษณะสินเชื่อ : หนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคารเพื่อค้ำประกันว่า หากลูกค้าของธนาคารไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในหนังสือค้ำประกันแล้ว ธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้เงินตามที่ระบุให้แก่ผู้รับหนังสือค้ำประกันเป็นการชดเชย เช่น การค้ำประกันยื่นซองประกวดราคา การค้ำประกันเงินกู้ การค้ำประกันต่อกรมศุลกากร ฯลฯ
     
  7. การอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน (Aval)
    ลักษณะสินเชื่อ : : เป็นการค้ำประกันการจ่ายเงินตามตั๋วเงิน เมื่อมีการออกตั๋วเงินลงวันที่ชำระหนี้ล่วงหน้า ประกอบด้วย ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเช็ค เพื่อให้สามารถนำมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินสด หรือเพื่อชำระหนี้ มักใช้ในกรณีที่เจ้าหนี้ไม่แน่ใจในความน่าเชื่อถือของลูกหนี้ผู้ออกตั๋ว ลูกหนี้หรือผู้สั่งจ่ายตามตั๋วเงินจึงจำเป็นต้องหาบุคคลผู้มีความน่าเชื่อถือมาลงลายมือชื่ออาวัลตั๋วเงิน เพื่อเป็นการค้ำประกัน
     

         สินเชื่อที่กล่าวมาข้างต้น เป็นประเภทสินเชื่อหลักที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในธุรกิจ ซึ่งก่อนจะขออนุมัติสินเชื่อธุรกิจ SME จำเป็นต้องตรวจสอบรายละเอียด เงื่อนไขผลิตภัณฑ์ และเลือกสินเชื่อให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจ ที่สำคัญจะต้องประเมินความสามารถในการผ่อนชำระเงินกู้ของตนเองด้วยเพื่อจะได้สามารถเดินหน้าธุรกิจได้อย่างไม่มีสะดุด

 


ที่มาข้อมูล : หนังสือสารคดีชีวิตต้องสู้ เงินทองของหายาก เขียนโดย ไม้ไต่คู้

สาระ SME น่ารู้ที่เกี่ยวข้อง