เช็กลิสต์ภาษีที่ SME ต้องจ่าย และสิ่งที่ต้องระวัง ไม่ให้โดนเก็บภาษีย้อนหลัง

9 ม.ค. 2568

SME Playbook

ในการทำธุรกิจมีหลายสิ่งที่ SME จะต้องระวังโดยเฉพาะกับเรื่องของการจัดส่งภาษีอย่างถูกต้อง เพราะหากละเลยหรือผิดพลาด อาจทำให้ถูกเรียกเก็บย้อนหลังได้ ซึ่งการทำธุรกิจต้องมีภาษีอะไรบ้างที่ต้องจ่าย และเรื่องอะไรที่ต้องระวังเป็นพิเศษถ้าไม่อยากโดนเก็บภาษีย้อนหลัง


ภาษีที่ SME ต้องจ่าย

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีที่เรียกเก็บจากรายได้สุทธิของธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล อัตราภาษีจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ เช่น:

  • ธุรกิจที่มีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี จะได้รับการยกเว้นภาษี
  • กำไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 15%
  • กำไรสุทธิที่เกิน 3,000,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 20%

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ธุรกิจที่มีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเก็บภาษีในอัตรา 7% จากการขายสินค้าและบริการ โดยธุรกิจต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกเดือนเพื่อรายงานภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บและภาษีซื้อที่สามารถขอคืนได้


3. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีที่ธุรกิจต้องหักจากการจ่ายเงินให้แก่ผู้ให้บริการ เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าเช่าสำนักงาน หรือค่าบริการอื่นๆ อัตราการหักขึ้นอยู่กับประเภทของรายได้ เช่น:

  • 3% สำหรับค่าบริการ
  • 5% สำหรับค่าเช่า
  • 15% สำหรับเงินปันผลหรือดอกเบี้ย

4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
สำหรับธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และสถาบันการเงิน จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.1% ถึง 3% ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ


5. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ในกรณีที่ธุรกิจดำเนินงานในรูปแบบบุคคลธรรมดา ผู้ประกอบการต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยคำนวณจากรายได้สุทธิ และเสียตามอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 5% ถึง 35%


6. ภาษีป้าย
การติดตั้งป้ายโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ ต้องชำระภาษีป้ายประจำปี โดยคิดจากขนาดและประเภทของป้าย


7. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
หาก SME มีที่ดิน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง ต้องยื่นชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกปี


8. ภาษีศุลกากร
สำหรับ SME ที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ต้องชำระภาษีศุลกากรตามอัตราที่กำหนด


9. ภาษีสรรพสามิต
ธุรกิจที่ผลิตหรือจำหน่ายสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำมันเชื้อเพลิง หรือสินค้าฟุ่มเฟือย ต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามกฎหมาย


วิธีป้องกันไม่ให้โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง

1. จัดทำบัญชีให้ถูกต้องและโปร่งใส และบันทึกเอกสารให้ครบถ้วนทุกขั้นตอน เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี ใบส่งสินค้า และหลักฐานการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ
2. ยื่นแบบภาษีให้ตรงเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับและดอกเบี้ยกรณียื่นล่าช้า
3. ตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จากคู่ค้าหรือผู้รับบริการอย่างสม่ำเสมอ และนำส่งให้ครบถ้วน
4. จดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หากธุรกิจมีรายได้เกินเกณฑ์ ควรจดทะเบียน VAT เพื่อป้องกันการถูกปรับย้อนหลัง และการตรวจสอบจากกรมสรรพากร
5. การเก็บหลักฐานและเอกสารทุกอย่างไว้อย่างน้อย 5 ปี

○ เอกสารสำคัญ เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน ควรเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้ในการตรวจสอบหรือตอบกลับเมื่อถูกเรียกตรวจ



ที่มาข้อมูล : businessplus, smethailandclub

สาระ SME น่ารู้ที่เกี่ยวข้อง