4 วิธีเล่าเรื่องให้ปัง ปั้นแบรนด์ให้ดังสนั่น Storytelling

5 เม.ย. 2567

SME Playbook

การเล่าเรื่อง (Storytelling) คือ เทคนิคในการสร้างแบรนด์ที่สามารถดึงดูดผู้คนให้มาสนใจธุรกิจได้ไม่ยาก เพราะคนส่วนใหญ่ชอบเสพเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นที่มาของสินค้า จุดกำเนิดของแบรนด์ หรือเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่มีความสำคัญกับธุรกิจ หากนำเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าผ่านการทำคอนเทนต์ให้น่าสนใจแล้วล่ะก็ โอกาสที่แบรนด์ของคุณจะเกิดก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป


ทำไมการเล่าเรื่องถึงสำคัญในการสร้างแบรนด์

 

1. ช่วยสร้างภาพจำให้กับลูกค้า

ในตลาดที่มีธุรกิจแบบเดียวกันอยู่มากมาย ถ้าสามารถเล่าเรื่องราวของแบรนด์คุณให้มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากคู่แข่งได้ ย่อมเป็นที่น่าจดจำสำหรับลูกค้ามากกว่า การสร้างแบรนด์โดยไม่มีเรื่องราวใดๆ ที่ชวนค้นหา อ้างอิงจากผลสำรวจจากเว็บไซต์blog.thebrandshopbw เผยว่า
 

92% ของผู้บริโภคต้องการแบรนด์ที่มีการเล่าเรื่องผ่านโฆษณา
55% ของลูกค้า จะจดจำเนื้อเรื่องของโฆษณาได้ดีกว่าเนื้อหาปกติทั่วไป
68% ของลูกค้ากล่าวว่า การเล่าเรื่องราวให้กับแบรนด์นำไปสู่การตัดสินใจในการซื้อสินค้า และ บริการได้ดีขึ้น


2. สร้างความเชื่อมั่น

เรื่องเล่าที่น่าสนใจ เช่น เม็ดกาแฟที่มีจุดเริ่มต้นมาจากพื้นที่แห้งแล้งที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะปลูกกาแฟได้ หรือร้านค้า ที่ตั้งธุรกิจเคยเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญในอดีตมาก่อน เรื่องราวเหล่านี้สามารถสร้างความรู้สึกร่วมให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น จดจำ และผูกพันกับแบรนด์หรือสินค้าของคุณได้


4 สูตรการเล่าเรื่องให้น่าจดจำ


1. แบบ Before – After –Bridge

Bridge เป็นสูตรยอดนิยม และง่ายที่สุด ใช้เล่าเรื่องราวของแบรนด์หรือนำไปเป็นโครงในการเขียนคอนเทนต์ โฆษณา

  • Before (ก่อน) แสดงให้ผู้อ่านรู้ถึงปัญหาที่แบรนด์สามารถช่วยเหลือได้
  • After (หลัง) เมื่อแบรนด์ช่วยแก้ปัญหาแล้วจะเป็นอย่างไร
  • Bridge (สะพาน) วิธีการแก้ปัญหา แสดงให้เห็นว่าต้องทำอย่างไรถึงจะไปถึงจุดนั้น

ตัวอย่าง: แบรนด์ยาสีฟันยี่ห้อหนึ่ง นำเสนอปัญหาว่าผู้ใหญ่ชอบให้ขนมเด็ก เลยกลัวเด็กจะฟันผุ ซึ่งถ้าใช้ยาสีฟันแล้วจะทำให้ฟันแข็งแรงและป้องกันฟันผุ ฯลฯ


2. แบบ Problem-Agitate-Solve

สูตรการเล่าเรื่องที่ง่ายต่อความเข้าใจและสามารถนำไปใช้งานหลากหลาย ตั้งแต่โฆษณาไปจนถึงการเขียนคอนเทนต์ลงบล็อก

  • Problem(ปัญหา)  เล่าถึงปัญหาที่ผู้อ่านกำลังประสบ ความเจ็บปวดที่เคยเจอมา
  • Agitate(กวนใจ) เน้นย้ำปัญหาให้รู้สึกรุนแรงมากขึ้นเพื่อให้ผู้ชมนั้นได้รับความรู้สึกทางอารมณ์
  • Solve (แก้ไข) แสดงให้เห็นว่าแบรนด์สามารถแก้ปัญหาได้อย่างไร

ตัวอย่าง : เจ้าของแบรนด์รองเท้าเดินทางไปท่องเที่ยวในอเมริกาใต้ แล้วเห็นเด็ก ๆ ที่นั่นไม่มีรองเท้าใส่ จึงเริ่มทำธุรกิจขายรองเท้าเพื่อนำรายได้ไปช่วยเหลือเด็กซึ่งส่งผลต่อดีต่อความรู้สึกของผู้ซื้อ


3. แบบ Features-Advantages-Benefits

เหมาะสมสำหรับธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์ ช่วยนำเสนอประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ มากกว่าด้านคุณสมบัติเพียงอย่างเดียว

  • Features (คุณสมบัติ) อันดับแรกคือ นำเสนอคุณสมบัติหลักของสินค้าก่อนว่าทำอะไรได้บ้าง
  • Advantages (ข้อดี) จากนั้นนำเสนอข้อดีของแบรนด์ที่สามารถช่วยเหลือลูกค้าได้
  • Benefits (ประโยชน์) สุดท้ายแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าทำไมเขาถึงควรใช้สินค้าชิ้นนี้

ตัวอย่าง : แบรนด์กล้องถ่ายรูป สามารถช่วยถ่ายภาพและแบ่งปันประสบการณ์สำคัญในชีวิตได้มากมาย เช่น การสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ที่พบระหว่างทางด้วยกล้องถ่ายรูป


4. แบบ Dale Carnegie’s Magic

การเล่าเรื่องจากประสบการณ์ส่วนบุคคล ความจำเป็นที่ต้องทำ และผลลัพธ์ที่จะได้กลับมา ด้วย 3 ขั้นตอน

  • Incident (อุบัติการณ์) เล่าเหตุการณ์ของคุณเพื่อช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกร่วม และแบ่งปันประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกัน
  • Action (ลงมือปฏิบัติ) ทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องแก้ไขเหตุการณ์ ด้วยการช่วยเหลือจากแบรนด์ของคุณ
  • Benefit  (ประโยชน์) – แสดงให้เห็นว่าทำไมพวกเขาถึงต้องทำตามและพวกเขาจะได้ประโยชน์อะไร

ตัวอย่าง แบรนด์แฟชั่นหนึ่งต้องการนำเสนอภาพลักษณ์แบรนด์ที่เน้นความยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านตัวละครผู้หญิง ที่เห็นถึงปัญหา เกี่ยวกับมลภาวะ ซึ่งลูกค้าสามารถช่วยเหลือแก้ปัญหานี้ได้ โดยการใช้แบรนด์สินค้านั้น เช่น การหัก 10% จากรายได้นำไปบริจาค ช่วยเหลือสังคม หรือแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

วิธีการเล่าเรื่องทั้ง 4 สูตรนี้ คือเทคนิคที่ SME สามารถนำไปปรับใช้กับการสร้างคอนเทนต์เพื่อนำเสอนสินค้า สร้างแบรนด์ธุรกิจของคุณให้เกิดความโดดเด่น มีความน่าเชื่อถือขึ้นมาได้ โดยอย่าลืมว่าเรื่องราวนั้นจะต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง มีความสมจริง ถึงจะสามารถสร้างความรู้สึกร่วมและทำให้แบรนด์ของคุณเป็นที่น่าจดจำสำหรับลูกค้าได้


ที่มาข้อมูล : stepstraining, zortout

 

สาระ SME น่ารู้ที่เกี่ยวข้อง